|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
สถิติผู้เข้าชม
|
ขณะนี้มีผู้เข้าใช้
|
8
|
ผู้เข้าชมในวันนี้
|
747
|
ผู้เข้าชมทั้งหมด
|
5,470,932
|
|
|
|
|
22 ธันวาคม 2567
|
อา |
จ. |
อ. |
พ. |
พฤ |
ศ. |
ส. |
1 |
2 |
3 |
4 |
5 |
6 |
7 |
8 |
9 |
10 |
11 |
12 |
13 |
14 |
15 |
16 |
17 |
18 |
19 |
20 |
21 |
22 |
23 |
24 |
25 |
26 |
27 |
28 |
29 |
30 |
31 |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
กว่าจะเป็น เสพสมบ่มิสม ของ หมอนพพรนพ.นวรัต ไกรฤกษ์
[4 เมษายน 2555 16:20 น.]จำนวนผู้เข้าชม 7214 คน |
|
กว่าจะเป็น ”เสพสมบ่มิสม” ของ “หมอนพพร”นพ.นวรัต ไกรฤกษ์
“หมอนพพร” หรือ นพ.นวรัต ไกรฤกษ์
ถ้าคนสมัยนี้มีปัญหาเรื่องเพศสามารถเข้าเน็ตไปหาคำตอบได้ แต่ถ้าคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปแล้ว หากใครมีปัญหาเรื่องเพศทุกคนจะนึกถึง “หมอนพพร” เจ้าของคอลัมน์ ”เสพสมบ่มิสม” ในนสพ.เดลินิวส์ เพราะสามารถไขปัญหาเรื่องเพศได้สะใจและตรงไปตรงมา คนทั่วบ้านทั่วเมืองรู้จักหมอนพพรในฐานะผู้เปิดทางสว่างในเรื่องเพศเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเจ้าของคอลัมน์นี้
และบรรทัดต่อไปนี้จะเป็นเรื่องของ “หมอนพพร” หรือ นพ.นวรัต ไกรฤกษ์ ในมุมที่ไม่มีใครรู้จัก
แม้จะมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่หมอนพพรกลับเป็นคนที่ปิดตัวเองมากจนแทบจะไม่มีใครรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขาเลยว่า หมอนพพร นั้นเป็นเพียงชื่อนามปากกาของ “น.พ.นวรัต ไกรฤกษ์” อดีตอุปนายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยในตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณราชการ
สองมือของนพ.นวรัตไม่เพียงแต่จะถนัดในเรื่องเข็มฉีดยาเท่านั้น แต่เขายังรักการเขียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก และเขียนได้ดีจนเพื่อน ๆ ที่วชิราวุธวิทยาลัยติดกันงอมแงม ครั้งหนึ่งพี่ชายของคุณหมอแนะนำให้เขียนหนังสือให้กับสำนักพิมพ์เพลินจิต ในชื่อเรื่อง “ชีวิตนักเรียนมหาวิทยาลัย” ซึ่งเขียนได้ดีจนได้ค่าเรื่อง 40 บาทซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อ 70 กว่าปีมาแล้ว เพียงหนังสือเล่มแรกก็ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างมาก และมาเริ่มเป็นที่รู้จักของนักอ่านมากขึ้นจากเรื่อง “ศัลยแพทย์ซอเรล” ที่แปลจากหนังสือเรื่อง SORRELL AND SON ของนักเขียนชาวอังกฤษ Warwich Deeping เมื่อปี 1925 โดยตอนนั้นใช้นามปากกาว่า “นลินี” ( ชื่อของบุตรสาวคนที่สอง)
เมื่อชื่อติดทำเนียบนักเขียนได้ไม่นาน นพ.นวรัต ได้มารู้จักกับ “พนมเทียน” นักเขียนนามอุโฆต ซึ่งในขณะนั้น เป็นบรรณาธิการนิตยสาร “จักรวาลรายสัปดาห์” พนมเทียนจึงนำหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับเพศศึกษา มาให้คุณหมอนวรัตน์แปลและลงตีพิมพ์ในจักรวาลรายสัปดาห์ทุก ๆ สัปดาห์ ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบมีคนอ่านติดตามทั่วบ้านทั่วเมือง ทำให้มีหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับมาติดต่อให้ไปเขียนคอลัมน์ แต่ก็ปฏิเสธเรื่อยมาจนปี 2520 ได้มารู้จักกับ แสง เหตระกูล เจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จึงได้มีการชักชวนมาเขียนบทความตอบปัญหาทางเพศ ผ่านคอลัมน์ “เสพสมบ่มิสม” ใช้นามปากกา “หมอนพพร” ซึ่งเป็นชื่อที่คุณหมอตั้งให้กับหลานรักคนหนึ่ง
การตอบรับเป็นคอลัมน์นิสต์เพื่อให้ความรู้เรื่องเพศในครั้งนั้น ถือเป็นเรื่องท้าทายยิ่งนัก เพราะสังคมไทยในยุคนั้น หากใครเอ่ยถึงเรื่องเพศจะถูกสังคมและคนรอบข้างติเตียนทันที เพราะถือว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่น่าอับอายต้องปกปิดเป็นความลับ ลูกมีปัญหาก็ไม่กล้าถามพ่อ สามีภรรยามีปัญหาเรื่องเพศก็ไม่กล้าพูดกันตรง ๆ เด็กหนุ่มที่เริ่มเรียนรู้เรื่องเพศเมื่อติดโรคก็ไม่รู้จะไปถามใครดี การเป็นกูรูทางเรื่องเพศที่ใช้ถ้อยคำที่ถือว่า "ลามก” ในยุคนั้น อาทิ “ สำเร็จความใคร่” , “ล่มปากอ่าว” , “นกเขาไม่ขัน” , “สามีเสร็จก่อนดิฉัน” ฯลฯ เหล่านี้กลายเป็นคำหยาบในสมัยนั้นถึงกับสันติบาลต้องเรียกตัวเจ้าของคอลัมน์นี้ไปพบ แต่เมื่อได้รับทราบเจตนารมของคุณหมอแล้วสันติบาลก็ยอมปล่อยตัวท่านในที่สุด
สรุปแล้วปัญหาเรื่องเพศที่ทุกคนอยากรู้ และอยากถามกลับกลายเป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่อาจเอ่ยปากได้ ถ้าจะพูดก็ต้องหลบๆซ่อนๆประหนึ่งว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเสียเหลือเกิน ตอนนั้นหมอนพพรในวัย 60 ปี จึงทำหน้าทลายกำแพงที่ปิดกั้นโอกาสในการศึกษาเรื่องเพศศึกษาของคนไทยในยุค โดยนำเรื่องจริงมาเผยแพร่ให้คนในสังคมไทยได้เรียนรู้
“หมอนพพร” ที่คลีนิคย่านรามอินทรา
ด้วยลีลาการตอบคำถามที่ตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการ ใช้ภาษาและถ้อยคำที่เข้าใจง่าย คอลัมน์เสพสมบ่มิสมกลายเป็นที่สนใจของนักอ่านรวมถึงผู้ที่มีปัญหาเรื่องเพศแต่ไม่มีทางออก ทั้งจดหมายและโทรศัพท์จากผู้อ่านที่เขียนเข้ามาเพื่อปรึกษาเรื่องเพศนั้นมีจำนวนมากจนนับไม่หวาดไม่ไหว ทำให้หมอนพพรต้องทำงานหนักกับการตอบคำถามต่อเนื่องนานกว่า 30 ปี
แม้จะตอบปัญหาทางเพศให้ผู้อ่านอยู่ทุกวี่ทุกวัน แต่จำนวนผู้เดือดร้อนก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ด้วยความที่คุณหมอเป็นคนมีจิตใจเมตตาต่อทุกคน จึงเปิดคลินิกชื่อ “คลินิกหมอนพพร” ย่านรามอินทรา รับปรึกษาปัญหาเพศและรักษาโรคติดต่อทางเพศ ซึ่งก็มีแฟนคอลัมน์แห่ไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก
จากวันนั้นถึงวันนี้ แม้คุณหมอจะสิ้นลมไปแล้ว แต่ท่านได้ถ่ายทอดมรดกเรื่องการตอบปัญหาเพศให้กับดร.นพพร บุญรงค์ ลูกศิษย์ที่หมอนพพรรัก
กับลูกศิษย์คนโปรด ดร.นพพร บุญรงค์
ดร.นพพร เล่าว่า ได้เข้ามาช่วยงานหมอนพพร มาตั้งปี 2538 โดยการชักนำของผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เพื่อให้มารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยตอบปัญหาทางเพศ โดยสิ่งแรกที่หมอนพพรหยิบยื่นให้คือ หลักการทำงานของคอลัมน์เสพสม บ่มิสมที่มีวัตถุประสงค์หลักคือช่วยลดปัญหาสังคม ปัญหาการหย่าร้าง โดยหวังให้คนได้รู้เรื่องเพศที่ถูกต้อง เป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้คนรู้จักการป้องกันการตั้งครรภ์และลดการทำแท้ง เมื่อมาอยู่จุดนี้ต้องรู้หลากหลายในทุกด้าน ที่สำคัญคือต้องมีศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมสูง มีจิตเมตตาที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้คนอื่น ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่หวังผลตอบแทน
“ช่วงที่มีโอกาสได้ช่วยท่านตอบคำถาม ผมจะต้องนำจดหมายมาให้ท่านเลือก ท่านก็จะตอบไปพร้อมกับสอนเรื่องการเขียน โดยให้เรานึกถึงความเป็นจริง ไม่ใช่ยกเมฆ ให้สมมติตัวเองว่า หากเราเจอปัญหาเช่นนี้เราจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหายังไง ให้ถูกต้องและตรงจุด ท่านพยามเน้นมากในเรื่องศีลธรรม บาป บุญคุณโทษ มีวิธีการสอนสอดแทรกแนวธรรมะ ปัญหาชีวิตที่ควบคู่กันไป” ดร.นพพรเล่าถึงอดีตที่นายแพทย์นวรัตสอนงาน
แม้ว่าหมอนพพรจะเลิกเขียนคอลัมน์นี้ไปนานกว่า 20 ปี แต่ท่านยังติดตามดูแลและคอยให้คำแนะนำมาตลอด ดร.นพพรเล่าอีกว่า สิ่งท่านให้ความสำคัญและย้ำมาตลอด คือสั่งให้ ลดตัวตนของตนเองให้มากที่สุด เวลาตอบคำถามไม่ให้ใช้คำแทนตัวเองว่า “หมอ กับ คนไข้” แต่ให้ใช้แทนตัวเองว่า “ผม กับ คุณ” เพื่อให้ความเป็นกันเองและทำให้คนที่กำลังมีปัญหารู้สึกสบายใจขึ้น นอกจากนี้การตอบคำถามจะต้องใช้คำที่อ่านและเข้าใจง่าย ไม่ให้ใช้คำที่เป็นทางการมากเกินไป จุดนี้เองที่ทำให้ชื่อ หมอนพพร และ คอลัมน์เสพสม บ่มิสม เป็นที่รู้จักและโด่งดังติดตลาดเป็นอย่างมาก
คอลัมน์ "เสพสมบ่มิสม” ที่ได้รับความนิยมจนต้องมีการรวมเล่ม
การมอบความรู้เรื่องเพศแบบเป็นเรื่องเป็นราวให้กับสังคมของหมอนพพร ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะมีทั้งเสียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเส้นที่ขีดแบ่งระหว่างคุณธรรมกับกิเลสที่เล็กและบอบบางเหลือเกิน ทำให้บางคนบอกว่า การตอบคำถามทางเพศเป็นการชี้โพรงให้กระรอก กระโดดเข้าใส่อย่างเร็วขึ้น แต่สิ่งที่หมอนพพร ทำในครั้งนั้น เป็นเหมือนรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับสังคมในปัจจุบัน
“สมัยก่อนมีหลายคนมองว่าการพูดเรื่องเพศในที่สาธารณะเป็นเรื่องไม่ดี คุณพ่อ(หมอนพพร) เคยเล่าให้ฟังว่า มีคนมาต่อว่า วิพากษ์วิจารณ์ เหมือนกัน ว่า ไม่เหมาะสมที่จะมาเขียนในหนังสือพิมพ์ เพราะหากเด็กๆเข้ามาอ่านเจอแล้วจำไปจะไม่ดี หลังจากที่สันติบาลเรียกไป ตอนนั้นก็มีจอมพลประภาส จารุเสถียร เรียกเข้าไปพบปรามแต่ครั้งนั้นก็แค่บอก “ให้เบาๆหน่อยนะครับ...” ด้วยความที่ท่านเป็นคนอารมณ์ดี ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไรได้แต่หัวเราะ”
ทุกตัวอักษรของนพ.นพพรนั้น ได้ทำให้เราได้รู้เท่าทันอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง ได้เข้าใจและยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ว่าการแสดงออกทางความรักที่เหมาะสม ภายใต้วิถีแห่งความเป็นจริงนั้น จะนำพาให้ไปสู่การมีชีวิตรักและสุขภาวะทางเพศที่ถูกต้องเหมาะสม สมดังปณิธานของหมอนพพรที่ตั้งไว้ว่า ..อยากให้ทุกคนเสพสม อย่างสุขสมนั่นเอง
ด้วยคุณความดีที่คุณหมอได้อุทิศตัวเพื่อช่วยจรรโลงสังคมไทยมานาน ขอให้ดวงวิญญาณของคุณหมอจงไปสู่สรวงสวรรค์ด้วยเทอญ
ที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th
|
|
|
|
|
|
|
[ +zoom ]
|
คอลัมน์ ,เสพสมบ่มิสม ที่ได้รับความนิยมจนต้องมีการรวมเล่ม |
|
|
|
|
|